ความเป็นมาของหน่วยงาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง "มูลนิธิชัยพัฒนา" โดย
ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ
ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ
หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที
จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง
หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว การที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาดำเนินการเช่นนี้
ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวดเร็วฉับพลัน
โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น
อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนา
เกิดความสมบูรณ์ขึ้น
"ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ ... เป็น เมืองไทยที่มีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนาตามที่ได้ตั้งชื่อ มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์ คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี"
(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 4 ธันวาคม 2537)
มูลนิธิชัยพัฒนาได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามเลขทะเบียนลำดับที่
3975 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2531 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105
ตอนที่ 109 วันที่ 12 กรกฎาคม 2531
นอกจากนี้
กระทรวงการคลังได้ประกาศให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ 169
ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2531 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่
152 วันที่ 16 กันยายน 2531
วัตถุประสงค์
- เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพัฒนาอื่นๆ
- เพื่อส่งเสริม การพัฒนาสงเคราะห์และช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น และให้สามารถช่วยตัวเองและพึ่งตนเองได้
- ดำเนินการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม
- ร่วมมือกับส่วนราชการและองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือดำเนินการเพื่อเน้นในการสนับสนุนสาธารณประโยชน์
- ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง
เป้าหมาย
เป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนให้มีความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ คือ ชัยชนะแห่งการพัฒนา
ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดแบบตราสัญลักษณ์ พร้อมทั้งความหมายด้วยพระองค์เอง และได้พระราชทานเป็นเครื่องหมายประจำมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย
พระแสงขรรค์ชัยศรี มีความหมายถึง พระราชอำนาจ พระบารมีและกำลังแผ่นดินที่จะ ฟันฝ่าให้เกิดการดำเนินการต่างๆ อันเป็นผลไปสู่ความมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักร
ธงกระบี่ธุช เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการต่อสู้ เพื่อป้องกันอาณาประชาราษฎร์ และพระราชอาณาจักรให้พ้นภยันตรายทั้งปวงและประสบความสำเร็จในการต่อสู้นั้น
ดอกบัว มีความหมายถึง ศักดิ์ศรี ความสงบร่มเย็น ความเจริญงอกงามและความบริบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร และบรรดาทรัพยากรทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความอยู่ดีกินดี และความสงบสันติสุขของประชาชนโดยทั่วหน้ากัน
สังข์ มีความหมายถึง น้ำที่จะสร้างความชุ่มชื้น ชโลมแผ่นดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็นเป็นสุข
คณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา
1. | พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช | องค์นายกกิตติมศักดิ์ | |
2. | สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | องค์ประธานกรรมการ | |
3. | นายเชาวน์ ณศีลวันต์ | กรรมการ | |
4. | พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ | กรรมการ | |
5. | นายอำพล เสนาณรงค์ | กรรมการ | |
6. | นายพลากร สุวรรณรัฐ | กรรมการ | |
7. | นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา | กรรมการ | |
8. | พลเอก เทียนชัย จั่นมุกดา | กรรมการ | |
9. | นายจริย์ ตุลยานนท์ | กรรมการ | |
10. | นายปราโมทย์ ไม้กลัด | กรรมการ | |
11. | นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ | กรรมการ | |
12. | นายพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต | กรรมการและเหรัญญิก | |
13. | นางสาววิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ | กรรมการและรองเหรัญญิก | |
14. | นายสุเมธ ตันติเวชกุล | กรรมการและเลขาธิการ | |
15. | นายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ | กรรมการและรองเลขาธิการ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น